หากพูดถึงประเด็นดราม่าของเรื่องการตัดสินให้คะแนนการแข่งขันมวยสากลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ต้องบอกไม่ทางพูดกันจบได้ในวันเดียว เพราะที่ผ่านมาไม่มีโอลิมปิกเกมส์ครั้งไหนที่จะไม่มีปัญหาเรื่องการตัดสินให้คะแนนเลยก็ว่าได้
วิวัฒนาการกติกามวยสากลโอลิมปิก
ที่ผ่านมีการปรับเปลี่ยนกติกาการให้คะแนนมาอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่โอลิมปิกครั้งแรกของมวยสากลสมัครเล่นเมื่อปี 1904 เมื่อ 116 ปีที่แล้ว การแข่งขันถูกกำหนดให้มีการชก 3 ยก ยกละ 3 นาที และมีกรรมการให้คะแนน 2 คน โดยยึดการตัดสินแบบมวยสากลอาชีพเป็นหลัก
จากนั้นในโอลิมปิกครั้งถัดมาเมื่อปี 1908 ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีการเปลี่ยนกติกาเล็กน้อย โดยกรรมการให้คะแนนยังมี 2 ท่านเหมือนเดิม ทว่าสิ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ ยก 1 กับยก 2 จะชกกัน 3 นาที โดยกรรมการจะให้คะแนนนักชกที่เหนือกว่า 5 คะแนนต่อยก ส่วนคนที่เป็นรองจะได้ 4 คะแนนต่อยก (หากโดนนับก็จะโดนหักคะแนนอีก)
ส่วนยกที่ 3 จะชก 4 นาที และกรรมการจะให้คะแนนนักชกที่เหนือกว่า 7 คะแนน ส่วนคนที่เป็นรองจะได้ 6 คะแนน (หากโดนนับก็จะโดนหักคะแนนอีก) หากคะแนนรวมทั้ง 3 ยกเท่ากัน กรรมการผู้ชี้ขาดจะใช้ดุลยพินิจเลือกผู้ชนะ หรืออาจจะเพิ่มการชกยกที่ 4 อีก 1 ยก กติกานี้ ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ในบางช่วง กีฬาโอลิมปิกจะเว้นวรรคจากการแข่งขันก็ตาม เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2
จนกระทั่งในโอลิมปิก 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้มีการเปลี่ยนกติกากันอีกครั้ง โดยเพิ่มให้มีกรรมการให้คะแนนจาก 2 เป็น 3 คน และได้เปลี่ยนวิธีให้คะแนนมาเป็นคะแนนระบบ 10 แต้มเหมือนมวยสากลอาชีพ จากนั้นในโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้มีการเพิ่มจำนวนกรรมการให้คะแนนจาก 3 เป็น 5 คน เพื่อต้องการให้กรรมการให้คะแนน เห็นเหตุการณ์ชัดเจนทั่วเวที
ก่อนที่ในโอลิมปิก 1984 แม้จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกติกา ทว่าได้มีการนำอุปกรณ์เฮดการ์ดมาให้นักมวยสวมใส่ เพื่อป้องกันไม่ให้นักชกแต่ละคน ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองมากจนเกินไป จนทำให้นักมวยสากลสมัครเล่น ต้องสวมเฮดการ์ดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้
ก่อนที่จะมีได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อมา ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อปี 1992 โดยเปลี่ยนจากการให้คะแนนระบบ 10 แต้มเหมือนมวยอาชีพ มาให้คะแนนตามจำนวนหมัดที่เข้าเป้า โดยจะให้กรรมการให้คะแนนทั้ง 5 คน ที่นั่งในแต่ละด้านของเวทีมวย กดปุ่มทุกครั้งที่มีการชกเข้าเป้า และกรรมการให้คะแนน จะต้องกดปุ่ม 3 คนขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะได้แต้มจากการชกในครั้งนั้น แต่ก็ยังไม่วายเจอคำครหาอยู่ดี
จนทำให้ครั้งต่อมา โอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา เพิ่มกติการให้มีการแสดงผลคะแนนบนจอโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทว่ากติกานี้ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาตัดสิน โดยเฉพาะในยามที่นักชกเจ้าภาพขึ้นเวที หากได้โอกาสคลุกวงในปล่อยหมัดชุดรัวคู่ต่อสู้เมื่อไหร่ กรรมการให้คะแนนก็สบโอกาสกดคะแนนให้แบบไม่ยั้ง ไม่ว่าหมัดชุดดังกล่าว จะเข้าเป้าหรือไม่ก็ตาม จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ การให้คะแนนตามจำนวนหมัด แล้วแสดงบนจอตลอดเวลา อีกทั้งการแข่งขันก็ยังไม่ค่อยสนุกมากนัก เพราะมีนักชกหลายคนที่พอรู้ว่าตัวเองมีคะแนนนำจะหนีทันที โดยไม่คิดที่จะชกแต่อย่างใด
ก่อนที่โอลิมปิก 2012 ที่ กรุงลอนดอน อังกฤษ ได้มีการเปลี่ยนกติกาอีกครั้ง โดยยังนับแต้มตามจำนวนหมัดเหมือนเดิม แต่จะแสดงคะแนนให้ผู้ชมและนักกีฬาได้เห็นเฉพาะตอนพักยกเท่านั้น ทว่า ปัญหาการตัดสินก็ยังไม่จางหายไปยังมีเหตุการณ์ตัดสินค้านสายตา ให้อยู่เหมือนเดิม
ทำให้ ในโอลิมปิก 2016 ที่ ริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล ได้ปรับเปลี่ยนกติกากันอีกครั้ง เพื่อให้มวยสากลสมัครเล่นดูสนุกเร้าใจมากขึ้น ด้วยการกลับไปใช้ระบบการให้คะแนน 10 แต้มต่อยกเหมือนมวยสากลอาชีพเหมือนเดิม โดยการให้คะแนนนั้นจะมีกรรมการให้คะแนน 5 คน แต่คอมพิวเตอร์จะทำการสุ่มเอาคะแนนเพียง 3 คนเท่านั้น แต่การเปลี่ยนกติกาในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ช่วยให้มีความขาวสะอาดแต่อย่างใด มวยสากลสมัครเล่น ยังคงมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการตัดสินเหมือนเดิม
ทำให้จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ตัดสินใจลงโทษแบน คณะกรรมการบริหารสหพันธ์มวยสากลนานาชาติชุดที่มี ชิง กั๊วะ วู เป็นประธานล้างบางเอาออกไปจากตำแหน่งได้ แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนกติกาในโอลิมปิกเกมส์ 2020 แต่อย่างใด ทำให้เรายังเห็นกรณีการตัดสินที่ค้ายสายต่าอยู่เนือง ๆ เช่นเดิม
จากประเด็นดังกล่าวทำให้ ทีมงานของ “STADIUMTH” จึงอยากรู้ว่ากฎกติกาแบบไหนที่คนวงการมวยบ้านเรามองว่ายุติธรรมที่สุด !!!
ทำให้เราจึงได้ไปหาคำตอบจากทั้ง นักมวย, อดีตนักมวย และ สื่อมวลชนผู้คร่ำหวอดในวงการมวย เพื่อมาไขข้อข้องใจให้แฟนได้ทราบกัน ว่า “คนวงการมวย” เขามีแนวคิดและความเห็นเป็นเกี่ยวกับประเด็นนี้กันอย่างไร “การตัดสินมวยสากล” จึงจะไม่มีคำครหาหรือไม่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับคำตัดสินขึ้นอีกในอนาคต
กับสองคำถามที่ว่า คิดว่ามวยสากลโอลิมปิกควรใช้วิธีนับคะแนนแบบไหนถึงจะใสสะอาดบริสุทธิ์ ? และคิดเห็นอย่างไรถ้ามวยสากลมีเกราะไฟฟ้าเหมือนเทควันโด ?
มุมมองของนักมวย
“สด” ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี นักชกเสื้อกล้ามทีมชาติไทย ชุดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่เพิ่งตกรอบ 8 คนมาแบบหมาดๆ และเคยผ่านโอลิมปิกเกมส์มาแล้วถึง 3 สมัย เผยว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งผมเองเคยผ่านการชกในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 3 ครั้งรวมครั้งนี้ด้วย ต้องบอกทุกกติกามันมีข้อดีและข้อเสีย ต่างกันออกไป แต่สำหรับผมการตัดสินในรูปแบบที่มีกรรมการให้คะแนนทั้ง 5 คน ที่นั่งในแต่ละด้านของเวทีมวย กดปุ่มทุกครั้งที่มีการชกเข้าเป้า และกรรมการให้คะแนน จะต้องกดปุ่ม 3 คนพร้อมขึ้นไป ถึงจะได้แต้มจากการชกในครั้งนั้น และมีการโชว์สกอร์ให้เห็นว่าใครมีมีคะแนนนำคะแนนตาม มันเป็นกติกา ที่น่าจะแฟร์ที่สุด ในสายตาผม
“เนื่องจากภาพการชกที่ถ่ายทอดสดออกมา หรือภาพข้างสนามที่แฟนมวย ได้เห็นกับการให้คะแนนของกรรมการที่อยู่รอบสนามมันจะประสานกันอยู่แล้ว ทำให้ผมจึงคิดว่า กติกานี้น่าดูเหมาะสมและทำให้แฟนกีฬาสามารถดูไปและสามารถลุ้นไปได้ด้วย”
“แน่นอนทุกกติกามันช่องโหว่อยู่แล้ว แต่ผมอยากเสนอว่า เราสามารถป้องกันการโกงได้ โดยเราสามารถวางกฎว่า หากนักชกฝ่ายแพ้ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน สามารถยื่นประท้วงได้ทันทีหลังจบการแข่งขัน เพราะแน่นอนทุกการแข่งขันมันจะมีการมอนิเตอร์หรือการถ่ายทอดสดอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ตัดสินกลับไปดูแทบว่าช็อตไหนมันควรเป็นคะแนน เพราะคะแนนดิบมันมีอยู่แล้ว เราสามารถดูได้ว่ากรรมการกดให้คะแนนพร้อมกันกี่ครั้งและกรรมการ 5 คน กดคะแนนตรงหมัดไหนบ้าง ซึ่งเราสามารถย้อนกลับไปดูว่าการตัดสินที่ผิดพลาดได้ แล้วค่อยมาประกาศยืนยันหรือเปลี่ยนคำตัดสิน เพราะมวยมันไม่ชกกันวันเดียวจบเลยเหมือนเทควันโด”
“ประเด็นเรื่องการใช้เกราะไฟฟ้าเหมือนเทควันโด ผมขอตอบสั้น ๆ แล้วกันนะครับ เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ มวย กับ เทควันโด มันต่างกันทั้งรูปแบบการทำแต้ม มวยใช้วิธีการชกอย่างเดียว ส่วนเทควันโดมีการเข้าทำทีมหลากหลายกว่า อีกอย่างผมมองว่ามันอาจเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนตัวของนักกีฬาด้วย ผมคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้และผมก็ไม่เห็นด้วย” สด กล่าว
มุมมองของอดีตฮีโร่และโค้ชทีมชาติ
ขณะที่ “แก้ว พงษ์ประยูร” อดีตนักชกฮีโร่ เหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2012 ปัจจุบันเป็นทีมงานผู้ฝึกสอนมวยสากลหญิงทีมชาติไทย แก้ว เคยมีประสบการณ์โดนการตัดสินที่ค้านสายตามาแล้ว ในรอบชิงฯ “ลอนดอนเกมส์” ที่ชกกับ โจว ซื่อ หมิง นักชกจีน เปิดเผยว่า สำหรับผมมองว่าการให้คะแนนตามหมัดที่ได้โดยการกดปุ่มพร้อมกัน 3 จากกรรมการ 5 คน และไม่โชว์คะแนนให้เห็นเลยน่าจะเป็นสิ่งน่าจะโปร่งใส่ที่สุด และการที่นักกีฬาไม่สามารถรู้ได้ว่ามีแต้มนำหรือตามอยู่น่าจะช่วยเพิ่มอรรถรสในการชกให้สนุกมากขึ้น
“หากถามว่าการคิดคะแนนในแบบของผมมันโกงได้ไหม ผมตอบเลยว่าเรื่องการโกง มันสามารถโกงได้ทุกรูปแบบ เพราะกีฬามวยมันคือการตัดสินด้วยสายตาและขึ้นอยู่กับดุลยพิจของกรรมการแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราทำได้คือการช่วยยกระดับมาตรฐานการตัดสินของผู้ตัดสินมากกว่า เพราะหากผู้ตัดสินมีความเป็นธรรมมีมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น มันน่าจะทำให้มวยหมดคำครหาไปได้มากกว่า
“ประเด็นเรื่องการใช้เกราะไฟฟ้าแบบเทควันโดนั้น ผมบอกเลยหากทำได้มันจะเป็นอะไรที่ดีมากและมันจะโปร่งใสมาก ๆ ด้วย แต่ความเป็นจริงมันเป็นไปได้ไม่เลย เพราะมวยต่างจากเทควันโดในทุกเรื่อง และมันยังทำให้นักกีฬามีปัญหาเรื่องความคล่องตัวในการชก ผมว่ามันเป็นไม่ได้”
มุมมองของกูรู
ส่วน “สร้อย มั่งมี” ผู้สื่อข่าวสายมวยเจ้าของนามปากกา “นายสังเวียน” เผยถึงประเด็นเรื่องกติกามวยสากล ว่า สำหรับในมุมมองของสื่อมวลชนที่คลุกคลีอยู่กับวงการนี้มาเกือบ 20 ปี ต้องขอบอกแบบนี้ เรื่องการตัดสินมันเป็นปัญหาที่แก้ยากมาก เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า มันมีปัญหาทุกยุคทุกสมัยแหละเพราะด้วยความไม่เที่ยงธรรมการของผู้ใหญ่ขององค์กรเอง นั้นแหละ ผมว่าทุกอย่างมันต้องเริ่มต้นจากตัวผู้ใหญ่ในแต่ละองค์กร ที่จะสร้างมาตรฐานในกับกรรมการ และต้องจัดการเรื่องมีนอกมีในกันให้ได้เสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นก็คงยากที่ความยุติธรรมในการตัดสินกีฬามวยสากลจะเกิดขึ้น
“กฎกติกาที่ผมคิดว่ามันน่าจะดีที่สุดคือการให้คะแนนแบบมีผู้ตัดสิน 5 คน ให้คะแนนชกละ 10 คะแนนแบบนี้นี่แหละดีที่สุดแล้ว แล้วไปรวมคะแนนหลังจบยกสุดท้าย และไม่ต้องมีการโชว์คะแนนระหว่างยกใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ไปตัดสินหลังจบการชกเลย แต่ต้องวงเล็บว่าหน่วยงานที่ดูแลต้องสร้างจริยธรรม และคุณธรรมให้ผู้ตัดสินแต่ละคนให้มีมาตรฐานที่ดีเท่ากันเสียก่อนเพราะ กรรมการข้างสนามก็คือ ศาล ของนักมวย ฉะนั้นแล้วผู้ตัดสินต้องมีความเที่ยงตรง มันถึงจะสามารถลดคำครหาได้ แต่ถ้าทำไม่ได้วงการมวยก็จะเป็นแบบนี้ตลอดไป” “นายสังเวียน” กล่าว
สำหรับเรื่องการนำเกราะไฟฟ้ามาใช้ผมมองว่ามันเป็นเรื่องยากเพราะกีฬามวยมันแตกต่างจาก “เทควันโด” ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการให้คะแนนหรือรูปแบบการต่อสู้ ระบบเซนเซอร์ต่างๆ มันคงนำมาใช้ไม่ได้เพราะกีฬามวยมันออกอาวุธกันไม่หยุด ซึ่งมันอาจเกิดความผิดพลาดได้เยอะกว่า ทำให้คิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ และผมเชื่อว่านักมวยก็คงไม่เห็นด้วยเช่นกัน
จากกติกาที่เปลี่ยนแปลง กับ มุมมอง ของ “คนมวย” ที่ได้แสดงความคิดเห็นออกมานั้นคงต้องยอมรับว่า “ปัญหา” มันไม่ได้อยู่ที่ “กติกา” เพราะทุกครั้งที่ผ่านมานั้นมันถือเป็นแนวทางที่บ่งบอกถึงความต้องการทำให้ “กีฬามวยสากลในโอลิมปิก” นั้นมีความโปร่งใสที่สุดมาโดยตลอด
นั่นจึงทำให้ “กติกา” ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ “การตัดสิน” ของ “กีฬามวยสากล” แต่น่าจะเป็น “ความยุติธรรม” ของ “ผู้ตัดสิน” เสียมากกว่า เพราะหาก “ผู้ตัดสิน” มีความเที่ยงธรรม ปัญหามันทุกอย่างที่ผ่านมามันก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน