“ฉันพยายามบอกตัวเองว่านี่คือความจริง ฉันกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ฉันยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นความจริง ฉันจึงพยายามดูเหรียญทองของฉันอีกหลายต่อหลายครั้ง

วินาทีที่โฆษกในสนามประกาศคำว่า “น้ำเงิน” เซนะ อิริเอะ ก็ได้สร้างตำนานบทใหม่ให้กับวงการมวยญี่ปุ่น ด้วยการเป็นนักชกหญิงชาวญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าเหรียญทองได้ในโอลิมปิก

อย่างไรก็ดี กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเธอต้องต่อสู้ทั้งกับแรงกดดัน ทั้งจากครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยในตอนแรก ไปจนถึงความเชื่อที่ว่ามวยเป็นกีฬาที่ป่าเถื่อน และถูกจำกัดไว้แค่ผู้ชาย

พบกับเรื่องราวของนักสู้สาววัย 20 ปี ที่มีมังงะเป็นแรงบันดาลใจไปพร้อมกับ Main Stand

มังงะจุดประกาย

“ความบังเอิญ” คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางครั้งมันก็นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา และชีวิตของ เซนะ อิริเอะ ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อตอนประถม 2 เธอบังเอิญไปเจอกับมังงะของมามิ แม่ของเธอ ที่ชื่อว่า “กัมบาเระ เก็งกิ” หรือชื่อไทยว่า เก็งกิ ยอดนักสู้


Photo : www.mercari.com

มันคือมังงะยุคเก่าจากปลายปากกาของ ยู โคยามะ ที่ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษที่ 1970s โดยเป็นเรื่องราวของ เก็งกิ โฮริงุจิ เด็กหนุ่มผู้ที่อยากเป็นนักมวยเหมือนพ่อที่เสียชีวิตไป และมีความฝันที่จะก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลก

แม้ว่าลายเส้นของเก็งกิ อาจจะดูเก่าไปสักหน่อยสำหรับ อิริเอะ ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในยุค 2000s แต่เนื้อเรื่องสุดเข้มข้นของมัน ก็ทำให้เธอวางไม่ลง จนต้องไปหาซื้อเล่มที่เหลือจากร้านหนังสือมือสองมาจนครบ

“เซนะไปเจอ ‘กัมบาเระ เก็งกิ’ ที่ฉันเอาไว้อ่านนาน ๆ ครั้ง ฉันไม่คิดว่าเธอจะติดการ์ตูนเรื่องนี้” มามิ แม่ของเธอบอกกับ Sports Hochi

ในขณะเดียวกัน มันไม่ได้มอบแค่ความสนุกให้กับอิริเอะเท่านั้น แต่มันยังทำให้หนูน้อยวัย 7 ขวบตกหลุมรักในกีฬาหมัดมวยเข้าอย่างจัง และอยากจะเริ่มเล่นกีฬาชนิดนี้ เหมือนกับ เก็งกิ ตัวเอกของเรื่อง

ทว่า แม้ว่าเธอจะอยากต่อยมวยแค่ไหน แต่เธอก็ไม่กล้าเอาเรื่องนี้ไปบอกพ่อแม่ จึงทำได้เพียงเอาหนังสือพิมพ์มาทำเป็นนวม และเลียนแบบท่าชกมวยที่เห็นจากในมังงะเท่านั้น

แต่ในที่สุดเธอก็ต้านทานเสียงของหัวใจไม่ไหว จึงรวบรวมความกล้าไปบอกพ่อแม่ แน่นอนในตอนแรกพวกเขาไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ มามิ เนื่องจากมองว่ามวยเป็นกีฬาที่รุนแรงและเป็นห่วงว่าลูกสาวจะเสียโฉม

“เนื่องจากเป็นเด็กผู้หญิง การต่อยมวยจึงอาจจะทำให้หน้าเสียโฉมได้ ฉันจึงค่อนข้างกลัว” มามิ อธิบาย

แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องยอมจำนน เพราะมันเป็นสิ่งที่ลูกเลือก จึงได้พา เซนะ ไปฝึกมวยกับค่าย Sugar Knuckle Boxing Gym ซึ่งเป็นค่ายเดียวของเมืองโยนาโงะ จังหวัดทตโตริ บ้านเกิดของเธอ

และชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปนับตั้งแต่วันนั้น

ความฝันวัยเด็ก 

อิริเอะ กับมวยดูเป็นสิ่งที่คู่กันมาแต่ชาติปางก่อน แม้ว่าช่วงแรกเธออาจจะเบื่อไปบ้าง เนื่องจากต้องฝึกตั้งแต่พื้นฐาน แต่หลังจากนั้นไม่นาน มันก็กลายเป็น “ความรัก” ที่เธอทุ่มทั้งกายและใจมอบให้

“ความฝันของฉันคือเป็นนักมวยที่เก่งที่สุดในโลก เพื่อเก่งที่สุดในโลกฉันต้องแข็งแกร่งขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ” อิริเอะ เขียนไว้สมัยประถม


Photo : mainichi.jp

เธอรู้สึกสนุกกับการไปยิมเกือบทุกวัน และรู้สึกดีที่ได้สวมใส่นวมจริง ๆ เธอถึงขั้นมีสมุดบันทึก ที่เอาไว้จดตารางการฝึกซ้อม รวมไปถึงเมนูส่วนตัวที่ครูมวยมอบหมายมา

“ยิ่งฉันฝึกมากเท่าไร ฉันก็ชกดีขึ้น มันคือความสนุก” อิริเอะ ย้อนความหลังกับ The Asahi Shimbun

และตอนประถม 5 คำว่า “โอลิมปิก” ก็เข้ามาอยู่ในหัวเธอเป็นครั้งแรก หลังโตเกียว ตัดสินใจลงสมัครขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2020 ที่ทำให้เธอรู้แล้วว่าจะชกมวยไปเพื่ออะไร

แถมในปีต่อมา ประตูแห่งความฝันของ อิริเอะ ก็ยิ่งเปิดกว้างขึ้น เมื่อมวยหญิงได้รับการบรรจุลงในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกที่ ลอนดอน 2012 หลังจากเป็นกีฬาชิงเหรียญของผู้ชายมากว่า 100 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น ในโอลิมปิกครั้งดังกล่าว ยังทำให้ไฟของหนูน้อยวัย 12 ปีลุกโชนขึ้น หลังได้เห็น ซาโตชิ ชิมิซึ ซึ่งเป็นชาวโอคายามะ จังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงของทตโตริ คว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันชกมวยรุ่นแบนตัมเวท และตั้งเป้าว่าจะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

“ฉันจะติดทีมชาติไปโอลิมปิก และคว้าเหรียญทองตอนอายุ 20 ปี” คือข้อความที่ อิริเอะ เขียนไว้ในสมุดบันทึก

แน่นอนว่าเธอไม่ได้แค่คิดเท่านั้น

นักชกไร้พ่าย 

หลังคำว่า “โอลิมปิก” กลายมาเป็นเป้าหมาย อิริเอะ ก็ทุ่มเทให้กับมวยที่เธอจริงจังกับมันอยู่แล้วให้จริงจังขึ้นไปอีก เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองแข็งแกร่งขึ้น ทั้งการลงชกกับผู้ชาย หรือการเข้าไปอยู่ชมรมกรีฑาตอนสมัยมัธยมต้น


Photo : twitter.com/getsuriku

อิริเอะ ให้เหตุผลว่าการวิ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ พละกำลัง และความอึดให้เธอ ซายากะ มิคามิ นักกระโดดน้ำทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นของอิริเอะเล่าว่า เพื่อนของเธอถึงขั้นวิ่งไปด้วยสวมหน้ากากอนามัยไปด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น

“เธอบอกฉันว่ามันสำคัญต่อการชกมวย” มิคามิ บอกกับ olympics.com

ทำให้ในช่วงมัธยมต้น เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่หนักของชีวิตเธอ เพราะนอกจากเรียนแล้ว ยังต้องทำกิจกรรมชมรม และหลังจากนั้นก็ต้องไปซ้อมมวยต่อ แล้วค่อยกลับมาทำการบ้านที่บ้าน จนทำให้ครั้งหนึ่งเธอถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อหลังสอบปลายภาคเสร็จ

“เธอสามารถฝึกหมัดแย็บได้อย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมง พรสวรรค์และพลังกายของเธอสุดยอดมาก” ทาเคชิ อิดะ ประธานบริหาร Sugar Knuckle Boxing Gym และเจ้าหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งโอลิมปิกญี่ปุ่นกล่าวกับ Yomiuri Shimbun Online


Photo : www.sanin-chuo.co.jp

แต่ความทุ่มเทก็ตอบแทนเธออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อมันทำให้อิริเอะกลายเป็นนักชกไร้พ่ายในระดับมัธยมต้น ด้วยตำแหน่งแชมป์การแข่งขันชกมวยชิงแชมป์แห่งชาติระดับต่ำกว่ามัธยมต้น 4 ปีติดต่อกัน (รายการนี้อนุญาตให้ลงแข่งได้ตั้งแต่ระดับ ประถม 5-6) และแชมป์การแข่งขันชกมวยระดับชาติรุ่นต่ำกว่ามัธยมต้น (UJ) อีก 2 สมัยในปี 2014 และ 2015

ในขณะกิจกรรมชมรม เธอก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อ อิริเอะ ที่ถนัดการวิ่งระยะ 800 เมตรเป็นพิเศษ ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียนร่วมศึกการแข่งขันวิ่งผลัด (เอคิเด็น) ระดับมัธยมต้นชิงแชมป์แห่งชาติ

แถมตอนอายุ 14 เธอยังได้รับเลือกจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ให้ไปเข้าร่วมค่ายฝึกซ้อมกับเหล่าทีมชาติ และกลายเป็นตัวความหวังที่จะคว้าเหรียญในโอลิมปิกในอีก 6 ปีข้างหน้า

แต่ในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

ความจริงปลุกให้ตื่นขึ้น 

“เซนะสู้โดยใช้เพียงแค่เทคนิคพื้นฐานเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังเหนือกว่าคนอื่น สิ่งนี้มันสุดยอดมาก” อิดะ ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2013

“ถ้าเธอได้ฝึกฝนเทคนิคมากขึ้นตอนมัธยมปลาย เธอก็จะยิ่งพัฒนา และแข็งแกร่งกว่านี้แน่นอน” 


Photo : boxmob.jp

อิริเอะ พกความมั่นใจเต็มเปี่ยมตอนขึ้นชั้นมัธยมปลาย ด้วยดีกรีแชมป์ระดับประเทศ และเข้าไปอยู่ชมรมมวยของโรงเรียนมัธยมปลายโยนาโงะนิชิ พร้อมตั้งเป้าคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันเหมือนสมัยมัธยมต้น

แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึงตอนมัธยมปลายปี 1 (ม.4) เมื่ออิริเอะ ซึ่งเป็นตัวเต็ง ต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบ 8 คนสุดท้ายในอินเตอร์ไฮ หลังพ่ายให้กับ สึกิมิ นามิกิ (ต่อมาเธอคือเจ้าของเหรียญทองแดงรุ่นฟลายเวท ในโตเกียว 2020) 3-0 มันคือความพ่ายแพ้ในไฟต์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของเธอ

สิ่งนี้ปลุกเธอให้ตื่นจากฝัน และทำให้รู้ว่าเธอยังไม่แกร่งพอ ทว่า อิริเอะ ก็ไม่ได้จมจ่อมอยู่กับความพ่ายแพ้ กลับกันมันกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เธอกลับมาทบทวนวิธีการฝึกอีกครั้ง

ก่อนที่มันจะทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น จนสามารถคว้าแชมป์ระดับชาติ 2 ปีติดต่อกัน ตอนปี 2 และ ปี 3 (ม.5 และ ม.6) รวมไปถึงติดทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นเยาวชน และคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันมวยเยาวชนชิงแชมป์โลก 2018 ที่บูดาเปสต์ ฮังการี


Photo : boxmob.jp | AIBA

อิริเอะ ยังคงเดินหน้าสานต่อเส้นทางนักชกของเธอหลังจบมัธยมปลาย ด้วยการไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬานิปปอน สถาบันที่ผลิตนักกีฬาทีมชาติออกมามากมาย ในขณะเดียวกันเธอยังติดทีมชาติชุดใหญ่ ลงต่อยในศึกชิงแชมป์โลก 2019

จนกระทั่งในปี 2020 เธอก็มายืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นของความฝัน เมื่อสามารถคว้าตั๋วผ่านเข้าไปเล่นในโอลิมปิก 2020 ในรุ่นเฟเธอร์เวทได้สำเร็จ หลังจบในอันดับ 2 ในรอบคัดเลือกเอเชีย-โอเชียเนีย และกลายเป็นผู้หญิงญี่ปุ่นคนแรกที่ผ่านเข้าไปถึงรอบสุดท้ายในกีฬาชนิดนี้

เหลืออีกเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น

ตำนานบทใหม่

อิริเอะ จริงจังกับโอลิมปิก 2020 มาก มันเป็นเหมือนทั้งความปรารถนา เป็นเหมือนความใฝ่ฝัน เพราะตอนที่พ่อเธอซื้อโทรศัพท์ให้เป็นเครื่องแรกตอนขึ้นชั้นมัธยมปลาย เธอยังเลือกเบอร์โทรที่มีเลข 2020 อยู่ในนั้น

ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้ มีความสำคัญกับเธอเป็นพิเศษ แต่ก่อนการแข่งขันไม่นาน การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มาพรากทุกอย่างไปจนหมด และทำให้การแข่งขันต้องเลื่อนออกไปอีกหนึ่งปี


Photo : www.asahi.com

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้ อิริเอะ มีเวลาฝึกซ้อมมากขึ้น เนื่องจากการระบาดของไวรัสทำให้มหาวิทยาลัยต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว และทำให้เธอได้กลับไปยังบ้านเกิด เพื่อโฟกัสกับมวยเพียงอย่างเดียว

“มันเป็นโอกาสที่ทำให้ฉันแข็งแกร่งขึ้น” อิริเอะ บอกกับ Nikkei

จนกระทั่งในปี 2021 โตเกียว โอลิมปิก ก็สามารถเปิดการแข่งขันจนได้ แม้ว่าจะเป็นการแข่งขันที่ไร้ผู้ชม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสที่ยังไม่ดีขึ้น

มันอาจจะทำให้เจ้าภาพเสียเปรียบอยู่บ้าง ที่ไม่มีแฟนกีฬาท้องถิ่นเข้ามาส่งเสียงเชียร์ แต่ไม่ใช่สำหรับ อิริเอะ ที่ก่อนโอลิมปิกจะเริ่มต้นขึ้น เธอได้รับกำลังใจชั้นยอดจาก ยู โคยามะ ผู้เขียนเรื่อง เก็งกิ ยอดนักสู้ ด้วยการวาดภาพตัวเธอพร้อมคำว่า “สู้เขา! เซนะ” เป็นของขวัญ

e50rmy3uyammzpb

และดูเหมือนว่ามันจะช่วยเพิ่มพลังใจให้เธอได้จริง ๆ เมื่อมันทำให้ อิริเอะ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่รอบแรกด้วยการเอาชนะ ยามิเลซ โซลอร์ซาโน นักชกจากเอลซัลวาดอร์อย่างเป็นเอกฉันท์ 5-0 ต่อด้วย คูลูด ฮลิมี จากตูนีเซีย ด้วยคะแนนเดียวกันในรอบ 16 คน

ในรอบก่อนรองชนะเลิศ เธอโคจรมาพบกับ มาเรีย เนชิตา จากโรมาเนีย ซึ่งการแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี ทำให้ต่างฝ่ายต่างแลกหมัด แต่สุดท้ายก็กลายเป็น อิริเอะ ที่เอาชนะไปได้ 3-2 เสียง พร้อมกับการันตีเหรียญทองแดงเป็นอย่างน้อย

แต่เป้าหมายของ อิริเอะ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในรอบรองชนะเลิศเธอจะต้องพบกับ คาร์ริส อาร์ชิงสตอล เจ้าของตำแหน่งรองแชมป์ยุโรป 2019 และ เหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์โลกในปีเดียวกัน แต่ อิริเอะ ก็เดินหน้าลุยอย่างเต็มที่ ก่อนจะเอาชนะไปได้อย่างหวุดหวิด 3-2 เสียง ผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ


Photo : belize.bpositivenow.com

อย่างไรก็ดี คู่ต่อกรของ อิริเอะ ในนัดชิงชนะเลิศไม่ใช่งานง่าย เพราะเธอคือ เนสตี เปเตซิโอ นักชกชาวฟิลิปปินส์เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 2019 และรองแชมป์เอเชีย 2015 ที่เคยเจอกันมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างเอาชนะกันไปคนละครั้ง

ทำให้ อิริเอะ ต้องใช้กลยุทธ์ล่อให้นักชกฟิลิปปินส์เดินเข้าหา โดยอาศัยช่วงแขนที่ยาวกว่าแย็บซ้ายเข้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะเห็นผล เมื่อมันทำให้เธอออกนำตั้งแต่ยกแรก จนสามารถเอาชนะไปได้ 5-0 เมื่อสิ้นเสียงระฆังสุดท้าย

และนับตั้งแต่วินาทีนั้น ประตูแห่งประวัติศาสตร์ก็ได้เปิดขึ้นแล้ว

ฝันที่เป็นจริง 

“ฉันพยายามบอกตัวเองว่านี่คือความจริง ฉันกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ฉันยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นความจริง ฉันจึงพยายามดูเหรียญทองของฉันอีกหลายต่อหลายครั้ง” อิริเอะ กล่าวกับ The Asahi Shimbun

หลังสิ้นเสียงประกาศจากโฆษกบนเวที อิริเอะ ก็กระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ จากนั้นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติก็ไหลออกมา น้ำตาที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเธอไม่ได้ฝันไป


Photo : www.businesstoday.com.tw

มันคือเหรียญทองที่มีค่ากับเธอมาก เพราะนอกจากจะทำให้เธอกลายเป็นนักมวยหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกแล้ว มันยังทำให้เธอทำตามความฝันได้สำเร็จ ความฝันของเด็กประถมคนนั้น

“ฉันไม่ได้เป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์ ฉันหวังว่าฉันจะสามารถส่งต่อกำลังใจ และยืนยันว่าเราจะได้รับอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่แน่นอน ถ้าเราทำงานหนัก” อิริเอะ กล่าวกับ Japan Times

ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า มวยไม่ใช่กีฬาที่ป่าเถื่อนหรือโหดร้ายเสมอไป เพราะแม้แต่ อิริเอะ ที่ดูเป็นมิตร และมักมาพร้อมกับรอยยิ้มตอนอยู่นอกสังเวียน ก็ยังสามารถคว้าเหรียญในโอลิมปิกได้

“เมื่อคุณได้ยินว่าเด็กผู้หญิงอย่างฉันต่อยมวย คุณอาจจะคิดว่าเธอชอบใช้ความรุนแรงและอารมณ์ร้อน” เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกรุ่นเฟเธอร์เวทกล่าวต่อ

“แต่ฉันและคนอื่นในทีมชาติก็ล้วนแต่อ่อนโยนกันทั้งนั้น ดังนั้นฉันหวังว่าเหรียญทองของฉันจะช่วยเปลี่ยนมุมมองนั้น” 


Photo : www.juksy.com

สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนญี่ปุ่นหันมาสนใจกีฬาชนิดนี้ โดยหลังจากเธอคว้าเหรียญทอง แฮชแท็กคำว่า #boxing ได้กลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ญี่ปุ่น และมีการทวีตข้อความไปถึง 82,000 ครั้ง

“ฉันหวังว่าการคว้าเหรียญทองในครั้งนี้ จะทำให้การรายงานข่าวมวยหญิงหรือกีฬาที่ผู้หญิงลงแข่งประเเภทอื่น ๆ มีมากกว่านี้” อิริเอะ กล่าวกับ Kyodo News

อย่างไรก็ดี แม้ว่า อิริเอะ จะคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต เมื่อเธอประกาศว่าจะแขวนนวมหลังเรียนจบ หรืออีกแค่ 2 ปีข้างหน้าเท่านั้น

“ฉันคิดว่าฉันจะเลิกต่อยมวยหลังเรียนจบ หลังโอลิมปิกฉันอาจจะเริ่มหางาน ฉันชอบกบมาก ดังนั้นฉันจึงอยากทำอะไรกับกบ หรือไม่ก็อาจจะเกี่ยวกับเกม เพราะว่าฉันชอบวิดีโอเกม” อิริเอะ บอกกับ The Asahi Shimbun

ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ เพราะสิ่งนี้ดันไปคล้ายกับชีวิตของ เก็งกิ โฮริงุริ ตัวเอกของเรื่อง “เก็งกิ ยอดนักสู้” ไอดอลในวัยเด็กของเธอ ที่ตัดสินใจแขวนนวมตอนอายุ 19 ปี หลังสามารถเอาชนะ เคนจิ เซกิ นักชกที่เคยทำให้พ่อของเขาเสียชีวิตมาได้

ราวกับว่าเมื่อความฝันของทั้งคู่เสร็จสมบูรณ์แล้ว มันก็ถึงเวลาที่พวกเขาจะได้กลับไป “ใช้ชีวิต” แบบปกติบ้าง โดยปล่อยให้การชกมวยเป็นแค่ฉากหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

เพียงแต่ว่าสิ่งนี้เป็นฉากสำคัญที่พวกเขาไม่มีวันลืม


Photo : ettoday.net

“ขอขอบคุณ Ganbare Genki ที่ฉันไปบังเอิญเจอตอนอยู่ ป.2 ฉันอยากจะบอกว่ามันทำให้ฉันมีความสุขมากตอนที่ฉันอายุ 20 ขอบคุณการ์ตูนเรื่องนี้จริง ๆ” อิริเอะ กล่าวกับ daily.co.jp